เทคนิคการจัดการความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk Management) ในยุควิกฤติโควิด-19

ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศไทยยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 นั้น มักจะมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ทั้งขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ที่ประสบปัญหาในการดำเนินงานจนถึงขั้นต้องปิดกิจการหรือล้มละลาย

โดยปกติความเสี่ยงทางการเงินเป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่เมื่อประสบกับภาวะวิกฤติ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติโรคภัยอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

หากเราจะนิยามความเสี่ยงทางการเงินก็จะสามารถพูดถึงได้ง่ายๆ ว่าเกี่ยวกับความสามารถของธุรกิจในการชำระหนี้ หรือประสิทธิภาพในการจัดการกับภาระหนี้ ทั้งในส่วนที่มาจากการกู้ยืมเงินหรือการจัดการกับเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจ หรืออาจจะมองอีกอย่างหนึ่งว่าบริษัทสามารถจัดการเงินสดรับให้มีมากกว่าเงินสดจ่ายในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร

 

ในบางครั้งเมื่อพูดถึงความเสี่ยงทางการเงินอาจจะรวมไปถึงความเสี่ยงทางด้านเครดิต ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงจากการลงทุน และความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

วิธีการจัดการความเสี่ยงทางการเงินในยุควิกฤตินี้อาจจะแบ่งเป็น 2 ประการดังนี้เทคนิคการจัดการความเสี่ยงทางการเงิน โควิด-19

1) การวิเคราะห์ทางการเงินเบื้องต้น คือการสังเกตการเปลี่ยนแปลงในส่วนของสินทรัพย์และรายรับขององค์กร โดยเฉพาะในส่วนของรายรับให้ดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลูกค้ากลุ่มใดที่มีความผันผวนมาก โดยจะต้องมีการติดตามเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน คือการมองหาโอกาสในการเพิ่มรายรับจากกลุ่มที่ยังมีโอกาสเติบโต และควรควบคุมไม่ให้มีการเพิ่มสินทรัพย์กลุ่มที่ดินอาคารและอุปกรณ์ที่มากเกินไป เพราะการเพิ่มสินทรัพย์กลุ่มนี้มักจะมีการผูกพันในระยะยาว

2) การวิเคราะห์เชิงปริมาณโดยใช้อัตราส่วนทางการเงินประกอบการพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนทางการเงินประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราส่วนทางการเงินด้านหนี้สิน เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt / Equity Ratio) ซึ่งเป็นการเทียบระหว่างหนี้สินรวมกับส่วนของ (ทุน) เจ้าของ ซึ่งหากอัตราส่วนนี้เท่ากับ 1 แสดงว่าหนี้สินและส่วนของทุน มีมูลค่าเท่ากันในการใช้อัตราส่วนนี้ บริษัทไม่ควรให้อัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นสูงเกินไป ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ และอีกอัตราส่วนทางการเงินที่ช่วยตรวจสอบความสามารถในการชำระหนี้ คือ อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ซึ่งดูได้จากกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งอัตราส่วนที่สูงแสดงถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ดีของบริษัท ซึ่งแนวทางวิเคราะห์ง่ายๆ ว่า หากอัตราส่วนนี้ต่ำกว่า 1.5 อาจจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาในการชำระหนี้

นอกจากนี้ ในการจัดการหนี้สินระยะสั้นโดยอาจจะดูจากอัตรส่วนเงินสด (Cash Ratio) คือเงินสดและหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย และ อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) ซึ่งหาได้จาก สินทรัพย์ระยะสั้นเทียบกับหนี้สินระยะสั้น ซึ่งอาจจะกล่าวสำหรับการใช้อัตราส่วนเงินสดและอัตราส่วนสภาพคล่องแบบง่ายๆ คือ อัตราส่วนทั้งสองตัวนี้ควรจะมีค่ามากกว่า 1 และหากอัตราส่วนทั้งสองนี้หากมีค่าสูงแสดงถึงความสามารถในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินระยะสั้นได้มีประสิทธิภาพ

อีกประการสำคัญในการใช้อัตราส่วนทางการเงินข้างต้นนี้ คือการดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 ช่วงเวลา เช่น 3 ไตรมาส เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้ม และหากสามารถเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็จะยิ่งทำให้บริษัทสามารถเห็นถึงตำแหน่งในการดำเนินการทางธุรกิจของเราได้ดีขึ้น

การบริหารความเสี่ยงทางการเงินนั้นไม่ได้อยู่ที่การวิเคราะห์เบื้องต้นทางการเงิน หรือการวิเคราะห์เชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการวางแผนการจัดการความเสี่ยงด้านการเงินที่ดี เช่น 1) การมีทีมงานวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงิน โดยมีการแยกแยะและแบ่งประเภทความเสี่ยงทางการเงินที่บริษัทต้องเกี่ยวข้องออกให้ชัดเจน รวมถึงระยะเวลาที่ภาระหนี้สินทางการเงินจะครบอายุอย่างละเอียด 2) พิจารณาในเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน โดยนโยบายประกันภัยประเภทต่างๆ 3) เตรียมเงินกองทุนเพื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากการเตรียมเงินสำรองไว้เป็นการเตรียมความพร้อมกับผลกระทบอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ 4) การมองหาโอกาสเพื่อการปรับตัวหรือขยายธุรกิจไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ยังมีการเติบโต และ 5) การมีวินัยทางการเงินที่ดี เพราะหากมีการดำเนินธุรกิจด้วยวินัยทางการเงินที่ดีเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่ดีที่สุดประการหนึ่ง วิธีการจัดการความเสี่ยงทางการเงินอื่นๆ ได้แก่ การสร้างเครดิตทางการเงินให้มีความน่าเชื่อถืออย่างสม่ำเสมอ การลดการซื้อสินทรัพย์ถาวรที่จะมีภาระผูกพันในระยะยาว และการจำกัดการเพิ่มหนี้สินใหม่ๆ โดยไม่จำเป็น

สรุปคือการจัดการความเสี่ยงทางการเงินในช่วงวิกฤติเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับธุรกิจประเภทต่างๆ และการหมั่นตรวจสอบผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอและวินัยทางการเงินที่ดี จะสร้างผลประกอบการที่ดีและนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจได้ในระยะยาว

ขอบคุณแหล่งที่มา : businesstoday.co

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : bazarop.com